เชิญร่วมกิจกรรมธรรมะในสวน วันอาทิตย์ที่ 14 ม.ค. 67

ขอเชิญชวนร่วมงานธรรมะในสวน
ตักบาตรต้อนรับปีใหม่

09.00 น. ร่วมกันทำวัตรเช้า
09.30 น. ฟังธรรมะบรรยาย
10.30 น. ตักบาตรพระสงฆ์หมู่ใหญ่ / รับของที่ระลึกผู้เกิดเดือนมกราคม
11.00 น. รับประทานอาหารร่วมกัน

เช้าวันอาทิตย์ ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2567
ณ ลานข้างวิหารเจ้าชื่น วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม เชียงใหม่
กิจกรรมเริ่ม 08.30 น. เป็นต้นไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.084-611-1563 คุณผึ้ง
094-491-8978 คุณปู / www.watumong.info /
เพจชาวพุทธวัดอุโมงค์ฯ

🙏🙏🙏
กิจกรรมนี้จัดสืบทอดมรดกธรรมของพุทธทาสภิกขุ ที่ว่า

” มรดกที่ ๒๑. การตักบาตรสาธิต แบบที่ทำกันอยู่ในสวนโมกข์ เป็นการศึกษา อยู่ในตัว ว่าจะสามารถ เลี้ยงพระ จำนวนร้อยได้อย่างไร, สะดวกเท่าไร, ควบคุมกิเลสได้โดยวิธีไหน. ขอให้ช่วยกันรักษาพิธีกรรม แบบนี้ไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ เกื้อกูล แก่การพิทักษ์รักษาพุทธศาสนาไว้ โดยวิธีประหยัด ไม่ยุ่งยากลำบาก และรักษาแบบฉบับโบราณ นับแต่สมัยพุทธกาลเป็นต้นมา.”
การตักบาตรนี้เป็นปรารภของพุทธทาสภิกขุเพื่อให้เป็นไปอย่าง สะดวก เป็นระเบียบเรียบร้อย เรียบง่าย และ เกิดประโยชน์สูงสุดแห่งการบิณฑบาต ทั้งต่อพระศาสนา พระภิกษุสงฆ์สามเณร ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกาทั้งมวล โดยมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับจำนวนคนที่มากขึ้น กล่าวคือ

  • พระภิกษุ สามเณร คงดำรงสมณศีลสมบูรณ์ ด้วยการรับและฉันภัตตาหารในบาตรตามที่มีการจัดและถวายเป็นสังฆทาน พร้อมกับการสวดชัยมงคล พิจารณาปัจจเวกขณ์ อนุโมทนาขอบคุณญาติโยมและให้พร
  • อุบาสกอุบาสิกา ได้บำเพ็ญทานอย่างสูงสุด คือสังฆทานแก่สังฆะโดยมิได้ระบุบุคคล ด้วยการตักข้าวสุกใส่บาตร ส่วนอาหาร น้ำ และจตุปัจจัยไทยทานทั้งหลาย วางถวายเป็นสังฆทานเพื่อการแจกจ่ายโดยสังฆะ

การเตรียมอาหาร และ วิธีการตักบาตร

ขั้นตอนที่ ๑
นำอาหาร (กับข้าว) ที่เตรียมมาไปจัดแยกบนโต๊ะ โดยอาหารที่เหมือนกันจะนำไปรวมกัน เช่น ไข่พะโล้ แกงจืด ดังนั้น ท่านไม่ต้องแยกอาหารมาเป็นถุง ๆ เท่าจำนวนพระ เพราะต้องแกะถุงนำมารวมกันในที่สุด ให้เตรียมเป็นถุงใหญ่หรือเป็นหม้อมาได้เลย โดยจะมีธรรมภาคีคอยแนะนำการจัดแยก ส่วนข้าวสวยให้เก็บไว้กับตัวเพื่อใช้ในการตักบาตรภายหลัง (ปริมาณข้าวไม่ต้องมาก )
หมายเหตุ
*ผลไม้จัดขึ้นโต๊ะพร้อมรับประทาน หากผลไม้ไม่พร้อมรับประทานท่านสามารถมาล้างจัดเตรียมขึ้นโต๊ะถวายได้ที่บริเวณจุดล้างจานของงาน

ขั้นตอนที่ ๒
สำหรับท่านที่เตรียมอาหารแห้ง น้ำดื่ม เครื่องใช้ ยา รวมถึงเครื่องสังฆทานชุด ให้นำไปวางแยกเช่นกัน ที่โต๊ะที่จัดไว้เฉพาะสำหรับวางอาหารแห้ง
หมายเหตุ ท่านที่เตรียมอาหารแห้งมา หากต้องการใส่บาตรข้าวสวยด้วยก็ทำได้ โดยเตรียมข้าวสวยมาต่างหาก

ขั้นตอนที่ ๓
เมื่อจัดการเรื่องอาหารเสร็จแล้ว ให้หยิบหนังสือสวดมนต์ ๑ เล่ม (อยู่บนโต๊ะในบริเวณงาน / เมื่อใช้เสร็จแล้วคืนที่จุดเดิม) และหาที่นั่งเพื่อเตรียมสวดมนต์ อาราธนาศีล อาราธนาธรรม
หมายเหตุ

  • เก้าอี้มีจำนวนจำกัด ขอสงวนไว้สำหรับผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่จำเป็นต้องนั่ง เพราะเจ็บป่วย

ขั้นตอนที่ ๔
ฟังการปรารภธรรม สวดแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศล

ขั้นตอนที่ ๕
หลังฟังธรรมจะเริ่มการตักบาตร โดยใส่ข้าวสวยช้อนเล็ก ๆ ลงในบาตร (ขอแนะนำให้ท่านเตรียมภาชนะใส่ข้าวสวยนี้มาเอง เพราะจาน ชาม ของวัดอาจไม่พอ)
หมายเหตุ

  • ระหว่างการใส่บาตรข้าวสวย จะไม่มีการใส่กับข้าว น้ำขวด ถวายสังฆทาน ปัจจัย หรือของอื่น ๆ เพื่อความรวดเร็ว
  • เนื่องจากแถวจะยาว ขอให้ผู้สูงอายุได้ใส่บาตรก่อน

ขั้นตอนที่ ๖
เมื่อเสร็จการตักบาตร จะเป็นการถวายภัตตาหารเพล โดยจะประเคนอาหารทั้งโต๊ะในคราวเดียว โดยตัวแทนอุบาสกจะเป็นผู้ประเคน เพื่อความรวดเร็วกว่าการประเคนทีละภาชนะ

ขั้นตอนที่ ๗
พระสงฆ์พิจารณาอาหารเมื่อพระเสร็จ
อนุญาตให้ญาติโยม ตักรับประทานข้าวก้นบาตร โดยจะใช้ภาชนะที่ใส่อาหารมาถวายหรือภาชนะของทางวัดก็ได้เมื่อรับประทานเสร็จ หากท่านใช้ภาชนะของวัดให้นำไปล้างที่จุดล้างจาน
ขั้นตอนที่ ๘
กิจกรรมเสร็จรวมทำบุญด้วยการเป็นจิตอาสาทำความสะอาดภาชนะที่ใช้ใส่อาหารขึ้นโต๊ะถวายพระและทำความสะอาดสถานที่ร่วมกัน

หมายเหตุ
เพื่อลดปัญหาขยะที่เกิดจากขวดน้ำดื่มพลาสติก ให้เตรียมน้ำใส่ภาชนะส่วนตัวมาให้เพียงพอต่อตนเอง

ขั้นตอนที่ ๙
อาหารแห้ง ของใช้ ชุดสังฆทาน จะถูกรวบรวมเพื่อใช้ในกิจการงานวัดต่อไป
หมายเหตุ
*หากท่านต้องการถวายน้ำดื่ม ทางวัดขอเป็นแบบขวดเล็กเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานต่อไป

ข้อแนะนำ
ทำบุญกับพระแล้ว ขอให้ทำบุญกับโลกด้วย ทางวัดขอแนะนำให้นำให้ใช้ภาชนะใส่อาหารสำหรับตักบาตรแทนถุงพลาสติก ซึ่งมีมากเป็นร้อยๆ ใบในงานตักบาตรแต่ละครั้งนอกจากนั้น หากท่านนำปิ่นโต ชาม ช้อน น้ำดื่มมาเอง ก็จะแน่ใจได้ว่ามีใช้แน่ เพราะจำนวนที่วัดมีอาจไม่เพียงพอ